ฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “At The Death House Door”

ชื่องาน : ฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “At The Death House Door”

รายละเอียด : “ไม่ควรมีใครถูกปล่อยให้ตายอย่างโดดเดี่ยว…
บันทึกจากแดนประหารโดยชายที่มีหน้าที่พูดคุยกับนักโทษประหาร
เพื่อให้เตรียมใจยอมรับความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา”

เนื่องด้วยในวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการมีชีวิต อีกทั้งยังเป็นการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

At the Death House Door ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2551 ภายใต้การกำกับของ ปีเตอร์ กิลเบิร์ต และ สตีฟ เจมส์ ซึ่งสามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองแอตแลนตา และยังเข้าชิงรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้านสารคดีจากสมาพันธ์ผู้กำกับแห่งอเมริกา (DGA) โดยบอกเล่าถึงชีวิตของ คาโรลล์ พิคเก็ตต์ ศาสนาจารย์ ผู้รับหน้าที่ “พูดคุย” กับนักโทษก่อนนำตัวเข้าสู่แดนประหาร ศาสนาจารย์หนุ่มจากรัฐเท็กซัสผู้สูญเสียเพื่อนในเหตุการณ์จี้ตัวประกันหน้าเรือนจำ นั่นคือจุดเปลี่ยนทั้งของตัวเขาและรัฐเท็กซัส ที่กลับมาใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง จากความสะเทือนใจในครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็นนักเทศน์ที่สนับสนุนโทษประหารชีวิต ก่อนมารับงานในเรือนจำ ประสบการณ์ 15 ปีกับนักโทษ 95 คน ที่เขามีหน้าที่พูดคุยเพื่อให้ทุกคนเตรียมใจยอมรับความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา เครื่องบันทึกเทปจำนวนมากถูกใช้บันทึกประวัติศาสตร์จากการพูดคุย การกระทำของเหล่านักโทษประหารที่เขามีโอกาสได้พบในช่วงวันสุดท้ายของชีวิต

การมาถึงของ การ์ลอส เดอลูนา ชายหนุ่มเชื้อสายเม็กซิกันที่ถูกจับในข้อหาฆาตกรรมที่เขาไม่ได้ก่อ และมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune สองคนที่พยายามช่วยเขาด้วยการเขียนบทความตีแผ่กระบวนการยุติธรรมอันบกพร่องที่ส่งให้เดอลูนาต้องขึ้นแท่นประหารและถูกประหารชีวิตในที่สุด เดอลูนา นักโทษประหารที่พิคเก็ตต์กล้ายืนยันว่าเด็กหนุ่มคนนี้บริสุทธิ์ และเราประหารผิดคน นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาอีกครั้ง
At the Death House Door สารคดีเรื่องเยี่ยมสัญชาติอเมริกันที่สะท้อนความจริงอันน่าเศร้าของโทษประหารชีวิต ทั้งต่อผู้คนรอบข้างและต่อสังคม โดยเฉพาะสังคมอเมริกันที่ยังคงเห็นว่าโทษประหารชีวิตนั้นจำเป็นในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยังคงเชื่อว่าสามารถป้องกันอาชญากรรมได้จริง แต่คำถามก็คืออะไรคือสิ่งที่ทำให้ศาสนจารย์ผู้นี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการฆ่า มากกว่าแค่การทำงานในหน้าที่

กำหนดการ

18.00 น.        กล่าวเปิดงานโดย ผู้แทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
18.30 น.        ชมภาพยนตร์ At the Death House Door
20.00 น.        พูดคุยกับ คุณโตมร ศุขปรีชาและ คุณวิทยา ปานศรีงาม

10439384_943751755651917_795850371386285781_n

วันเวลา : วันที่ 10 ตุลาคม 2557 เวลา 18.00 น.

สถานที่ : โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 7 กรุงเทพ ฯ

เพิ่มเติม : อีเมล media@amnesty.or.th โทรสำรองที่นั่งได้ที่ 02-513-8745 หรือ 02-513-8754