ชื่องาน : สัมมนา เรื่อง “พันธกิจของรัฐในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ”
รายละเอียด :
วันเวลา : วันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐
สถานที่ : ห้องรับรอง ๑ – ๒ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒
เพิ่มเติม :
รายละเอียดโครงการ
๑. หลักการและเหตุผล
การส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงเป็นพันธกิจของรัฐตามที่ได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) หรืออนุสัญญาผู้หญิงโดยรัฐภาคีมีหน้าที่จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานตามอนุสัญญาฯ ทุก ๆ ๔ ปี โดยในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ผู้แทนไทยได้ไปรายงานต่อคณะกรรมการอนุสัญญาฯ ในการประชุมครั้งที่ ๓๔ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ในการประชุมดังกล่าวคณะกรรมการอนุสัญญาฯ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยโดยมีประเด็นสำคัญคือ ให้รัฐภาคีพิจารณาทบทวนบทบัญญัติกฎหมายทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องอย่างเต็มที่ต่อบทบัญญัติทั้งหลายแห่งอนุสัญญา และปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ในระบบนิติบัญญัติของประเทศสมาชิกและให้รัฐภาคีบรรจุคำนิยามที่สมบูรณ์ของการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งชาติ หรือในกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศที่กำลังยกร่างอยู่ในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาข้อที่ ๑ แห่งอนุสัญญานี้ นอกจากนี้ คณะกรรมการอนุสัญญาฯ ขอเรียกร้องให้รัฐภาคีจัดการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับอนุสัญญานี้ และพิธีสารเพิ่มเติม ให้แก่ นักกฎหมาย ทนายความ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการยกร่าง และบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อพัฒนาศักยภาพของสตรีในการอ้างสิทธิอันพึงมีพึงได้ทั้งมวล คณะกรรมการอนุสัญญาฯ มีความกังวลว่า ถึงแม้มาตรา ๓๐ ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ให้การรับรองสิทธิอันเท่าเทียมกันระหว่างสตรีและบุรุษ แต่ยังไม่มีบทบัญญัติที่ระบุ คำนิยามของการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ที่สอดคล้องกับข้อที่ ๑ แห่งอนุสัญญานี้ ในการที่จะห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ในโอกาสที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. …. และทุกภาคส่วนมีภารกิจร่วมกันในการดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยรวมถึงพัฒนาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สภาปฏิรูปแห่งชาติ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โครงการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปประเทศไทย (WOMEN REFORM) สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย และองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดเวทีสัมมนาเรื่อง “พันธกิจของรัฐในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อให้ข้อมูลพันธกิจของรัฐต่อความเสมอภาคระหว่างเพศโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง โดยเฉพาะในบริบทของการยกร่างกฎหมาย และกระบวนการปฏิรูป
๒.๒ เพื่อให้ภาคประชาสังคมแลกเปลี่ยนข้อมูลพันธกิจของรัฐต่อความเสมอภาคระหว่างเพศกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
๓. วิธีการดำเนินงาน
โครงการเวทีสัมมนาเรื่อง “พันธกิจของรัฐในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ” เป็นเวทีเพื่อให้ข้อมูลพันธกิจของรัฐต่อความเสมอภาคระหว่างเพศโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และแลกเปลี่ยนข้อมูลพันธกิจของรัฐต่อความเสมอภาคระหว่างเพศกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โครงการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปประเทศไทย (WOMEN REFORM) สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย และเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ตลอดจนประชาชนที่สนใจทั่วไป
๔. กลุ่มเป้าหมาย
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โครงการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปประเทศไทย (WOMEN REFORM) สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชน จำนวน ๑๒๐ คน
๕. วัน เวลา และสถานที่
วันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑ – ๒ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒
๖. ผู้รับผิดชอบ
– คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินงานโดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี
– คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สภาปฏิรูปแห่งชาติ
– คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
– สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
– โครงการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปประเทศไทย (WOMEN REFORM)
– สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย
– องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังของสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women)
๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลพันธกิจของรัฐต่อความเสมอภาคระหว่างเพศโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับโครงการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปประเทศไทย (WOMEN REFORM) สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ และภาคประชาสังคม