หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมมือกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน เสวนาวิชาการศิลปะ หัวข้อเรื่อง เราอยู่ตรงไหน และเรากำลังจะไปไหน ? คำถามต่อศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยในบริบทของอุษาคเนย์ โดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย, ถนอม ชาภักดี, พีชญา ศุภวานิช และ กฤติยา กาวีวงศ์, และ ศิลปิน นักวิจารณ์ศิลปะ และภัณฑารักษ์ ตามลำดับ ในวันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2558 เวลา 14.00-17.00 น. ณ ห้องไอยรา หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซอยเกษมสันต์ 2 ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน (สามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าลงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ)
การเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรมบ่มเพาะองค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อ จะทำให้เห็นภาพรวมของพัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยนั้นเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง ความเข้าใจและการรับรู้ของสาธารณะชนเกี่ยวกับประเด็นและ ความสำคัญ บทบาท และหน้าที่ของงานศิลปะร่วมสมัยในเชิงสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรม ที่มีความเชื่อมโยงกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและโลกาภิวัฒน์นั้น เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้จักตัวเอง และมองหาตำแหน่งแห่งที่ของงานศิลปะร่วมสมัยของไทย เพื่อเกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนและอภิปรายถึงสถานะของงานศิลปะร่วมสมัยของเมืองไทยในปัจจุบัน เพื่อตั้งคำถามกับทิศทางของงานศิลปะร่วมสมัยของเราในอนาคต
ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีประเทศสมาชิกเป็นประเทศเพื่อนบ้านเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาเซียนก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เราจึงเล็งเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัยของไทย จำเป็นต้องมีมุมมองและวิสัยทัศน์ และมีความเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อตำแหน่งแห่งที่ของงานศิลปะร่วมสมัยของไทยในปัจจุบัน กับอนาคตที่มีการเชื่อมโยงกับบริบทศิลปะร่วมสมัยระดับภูมิภาคอุษาคเนย์ และระดับโลก โดยคาดหวังว่า กิจกรรมการเสวนาศิลปะ จะช่วยเปิดโลกทัศน์และอบรม บ่มเพาะองค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้แก่นักศึกษา นักเรียน และกลุ่มบุคคลทั่วไป
เกี่ยวกับผู้บรรยาย:
กรกฤต อรุณานนท์ชัย หลังจาก กรกฤต อรุณานนท์ชัย จบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนนานาชาติ ในกรุงเทพ ปี พ.ศ.2548 เขาได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ที่สถาบันศิลปะและการออกแบบ โรด ไอส์แลนด์ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขาทำงานด้วยเดนิม ผ้ายีนส์ที่เขาเพิ่มเข้าไปในผลงานของเขาเปรียบเป็นธาตุที่ห้า รองจากธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ กรกฤตเชื่อว่ายีนส์เป็นวัสดุที่มีความเป็นสากลเป็นผ้าสวมใส่ที่แพร่หลายทั้งในตะวันออกและตะวันตก ศิลปินทำงานจิตรกรรมโดยใช้ผ้ายีนส์ที่มีการฟอกขาว การจุดและดับไฟของศิลปินนั้นถือว่าทำงานแบบนี้เพื่อต้องการสร้างบทสนทนากับ ศิลปินไทยที่ชื่อว่า ดวงใจ จันทร์สระน้อย ซึ่งเคยเข้าร่วมรายการทีวี ประกวดของ ไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนท์ ที่สร้างความเกรียวกราวเมื่อปีที่ผ่านมาผลงานศิลปะของกรกฤตที่ผ่านมามีดังต่อไปนี้นิทรรศการเดี่ยว Painting with history in a room filled with men with funny names 2, Bill Brady KC, Kansas City, USA Muen Kuey, (It’s Always the Same) C L E A R I N G บรัสเซลล์ เบลเยี่ยม (2556), และ Painting with history in a room filled with men with funny names, C L E A R I N G นิวยอร์ก สหรัฐ (2556) และ Performance at the Museum, Museum of Modern Art in Warsaw, Warsaw, PL2557 (Painting with History in a Room Filled with Men with Funny Names 2) (with Korapat Arunanondchai) ,Carlos/Ishikawa ลอนดอน ประเทศอังกฤษ (2557) และ Letters to Chantri #1: The l ady at the door/The gift that keeps on giving (with Boychild), The Mistake Room, ลอสแอนเจลิส สหรัฐ (2557) และ Korakrit Arunanondchai,MoMAP.S.1 นิวยอร์ก สหรัฐ (2557) ผลงานนิทรรศการกลุ่ม Double Life, Sculpture Center, นิวยอร์ก สหรัฐ (2555) และ Columbia MFA Thesis Exhibition, Fisher Landau Center for Art นิวยอร์ก สหรัฐ (2555) และ Digital Expressionism, The Suzanne Geiss Company นิวยอร์ก สหรัฐ (2556) และ Memonikos, Jim Thompson House กรุงเทพฯ ไทย (2556) และ Beware Wet Paint, ICA ลอนดอน อังกฤษ (2557) และ Beware Wet Paint, Fondazione Sandretto Re Rebaudengo ตูริน อิตาลี (2557)
ถนอม ชาภักดี จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการศิลปะวิจารณ์ และทฤษฎีจากสถาบันเคนท์ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเคนท์ ที่ เคนท์เทอร์เบอรี่ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2542 ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ อุดมการณ์และศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย พ.ศ. 2493 – 2533 ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และเป็นนักวิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยที่มีผลงานตีพิมพ์ลงเนชั่นสุดสัปดาห์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เขาได้เริ่มต้นทำงานในฐานะภัณฑารักษ์รับเชิญเทศกาลศิลปะแนวเพอร์ฟอร์มแมนซ์ ทั้งนี้นอกจากงานจัดเทศกาลแล้ว เขายังได้ร่วมเข้าประชุมเสวนาศิลปะวิจารณ์ในระดับนานาชาติ International Art Critics Association (IACA) ในหลายๆประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย โปแลนด์ อังกฤษ ไทย นิทรรศการที่เขาเป็นภัณฑารักษ์รับเชิญมีดังนี้ ,Performance Art Festival Asiatopia 2 กรุงเทพ (2539), 253 Gallery กรุงเทพ (2542), Visual Culture Tourist Industry ณ Forum Staddtpark Graz ออสเตรีย(2543), Performance Art Festival : Asiatopia 3 กรุงเทพ (2543) KwangJu Biennale กวางจู เกาหลี (สำหรับโครงการของอุกกาบาต) (2544) Art Critic invited by Goethe Institut for Documenta 11, Kasel เยอรมัน (2545) Artist Performance art Festival, (PIPAF) มะนิลา ฟิลิปปินส์ (2546), Performance art and Poem Festival, British Council กรุงเทพ (2547) ผลงานด้านวิชาการมีดังนี้ เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ในประชุมวิชาการหัวข้อThe Ambiguous Allure of the West Conference : The Paradoxes of the Westernization of Thailand, Cornell University นิวยอร์ก สหรัฐ (2547) และ ซิมโปเซียม ศิลปะกับการเมือง ณ สถาบันเกอเธ่ กรุงเทพ (2550), ดำเนินรายการและประสานงาน Performance Art Festival : Asiatopia 10, กรุงเทพ (2550), นำเสนอผลงานArt and Community, Artist Village ไทเป ไต้หวัน (2551) เป็นต้น
พิชญา ศุภวานิช หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการ/ภัณฑารักษ์, Bangkok Art and Culture Center [BACC] (กรุงเทพฯ, ไทย) จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาการออกแบบจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ปริญญาโทด้านการวางแผนและออกแบบพิพิธภัณฑ์จาก University of the Arts สหรัฐ ทำงานทางด้านการวางแผนและการออกแบบนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ให้กับหลายพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ ครอบคลุมสาขาตั้งแต่ด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมและศิลปะ ได้เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านการออกแบบที่ Domus Academy ประเทศอิตาลีเมื่อปี พ.ศ. 2548 ก่อนกลับเมืองไทย โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน ริเริ่มโปรแกรมจัดการนิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ให้กับงานทัศนศิลป์ และงานสร้างสรรค์ด้านอื่นที่สามารถนำมาเชื่อมโยงสัมพันธ์และทำความเข้าใจเพื่อแตกยอดความคิดใหม่ๆ โครงการที่เธอได้ดูแลก่อนหน้านี้ ได้แก่ Twist and Shout: contemporary arts from Japan (2553), Dialogic: a multidisciplinary exhibition (2554), Politics of ME: an exhibition for micro-perspective (2555), Hear Hear: Sound installation exhibition (2556), Media Art Kitchen : Japan / Southeast Asia Media art project, Indonedia, Malaysia, Thailand, Phillippines (2014), Proximity, Poland (2014), Guandu Biennale, Taiwan (2014)
กฤติยา กาวีวงศ์ จบการศึกษาปริญญาโทด้านการจัดการ บริหารศิลปะ จากคณะบริหารจัดการศิลปะและนโยบาย จากสถาบันศิลปะชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐ และก่อตั้งองค์กรศิลปะร่วมสมัย โปรเจ็ค 304 ร่วมกับเพื่อนศิลปิน ตั้งแต่ปี 2539 ผลงานนิทรรศการ ที่เธอได้คัดสรร และ ร่วมจัดกับภัณฑารักษ์ต่างประเทศ ด้วยการนำเสนอศิลปินจากประเทศไทยเอเซีย และ ยุโรป นั้นส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันโดยศิลปินร่วมสมัยจากพื้นที่ดังกล่าว อาทิเช่น โลกาภิวัฒน์ การอพยพ ข้ามพรมแดน สังคม การเมือง วัฒนธรรมหลายหลาย และ เรื่องเล่าขนาดย่อม เช่นนิทรรศการ Under Construction, new dimension of Asian Art, ณ โอเปร่า ซิตี้ และ หอศิลป์ มูลนิธิ ญี่ปุ่น, โตเกียว, (2545), Nothing ; A retrospective of Rirkrit Tiravanija and Kamin Lertchaiprasert ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2004), “Politics of Fun” ณ Haus der Kulturen der Welt, เบอร์ลิน เยอรมนี (2548), the Bangkok Experimental Film Festival (2540–2550) ไซง่อน โอเพ็น ซีตี้ (ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช) โฮจิมินห์, เวียตนาม (2549-2550) “Between Utopia and Dystopia”, The Museo Universitario Arte Contemporáneo (Contemporary Art Univ. Museum), เม็กซิโก (2554) เป็นต้น กฤติยา ยังทำงานด้านการสร้างเครือข่ายระหว่างเอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ เธอได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนา บรรยาย และ อบรมเชิงปฎิบัติการ อย่างต่อเนื่องในเอเซียและต่างประเทศ ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ และหัวหน้าภัณฑารักษ์ประจำหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน มูลนิธิ เจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งได้ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน
โทร. 02612 6741
อีเมล์ education@jimthompsonhouse.com
FB Page: The Jim Thompson Art Center