แถลงข่าว “เสียงจากชุมชนทวาย : ข้อกังวลต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย”

ชื่องาน : แถลงข่าว “เสียงจากชุมชนทวาย : ข้อกังวลต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย”

วันเวลา : วันอังคารที่ 21 ตุลาคม 2557 เวลา 15.30 น.

สถานที่ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะ) ห้อง 709 ชั้น 7 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี)

รายละเอียด :

สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association DDA) พร้อมกับชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone – DSEZ) และกลุ่มประชาสังคมจากทวายจะเปิดตัวรายงานฉบับใหม่ “เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง” ในวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นรายงานการศึกษาใน 20 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ถนนเชื่อมต่อ พื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้าย ฯลฯ ซึ่งเผยให้เห็นสถานการณ์ที่เลวร้ายลงทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ที่เป็นผลมาจากการดำเนินงานเบื้องต้นของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อันชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสและขาดการปรึกษาหารืออย่างสิ้นเชิงกับประชาชนในพื้นที่ และไร้ระบบกฎหมายที่เพียงพอในการควบคุมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในพม่า รายงานฉบับนี้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากรัฐบาลไทยมีบทบาทร่วมผลักดันและเป็นหุ้นส่วนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่จดทะเบียนเป็นบริษัท “นิติบุคคลเฉพาะกิจ” 50 ต่อ 50 กับรัฐบาลพม่า

ทั้งนี้ ทางสมาคมพัฒนาทวาย เคยได้ยื่นจดหมายร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2556 และในครั้งนี้ตัวแทนชุมชนจากทวายจะได้เข้ารายงานข้อค้นพบจากการศึกษาในพื้นที่ต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ในวันอังคารที่ 21 ตุลาคม 2557 นี้  โดยจะมีการแถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการจัดเวทีตรวจสอบข้อเท็จจริง เวลา 15.30 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะ) ห้อง 709 ชั้น 7 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี)

วิทยากร: (ใช้ภาษาไทย พม่า และอังกฤษ – มีการแปลภาษาไทยตลอดการแถลง)
–          สมาคมพัฒนาทวาย (DDA)
–          ชาวบ้านจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
–          กลุ่มประชาสังคมจากทวาย
–          นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

หมายเหตุ: จัดฉายภาพยนตร์สารคดี “ทวาย ความสูญเสียเพื่อการพัฒนา” (“Dawei, Losses for Development”) ก่อนการแถลง

***************************************************************************************************************

การแถลงข่าว (ภาคภาษาอังกฤษ*)
(*โปรดแจ้งหากท่านต้องการการแปลภาษาไทย)
เวลา 18.30-21.30 น.
ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)
ห้องเพนท์เฮาส์ อาคารมณียา (เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต)

วิทยากร:
·      อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม
·      สมาคมพัฒนาทวาย (DDA)
·      ชาวบ้านจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
·      กลุ่มประชาสังคมจากทวาย
·      นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
·      ดร. เดชรัต สุขกําเนิด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ

หมายเหตุ: จัดฉายภาพยนตร์สารคดี “ทวาย ความสูญเสียเพื่อการพัฒนา” (“Dawei, Losses for Development”) ก่อนการแถลง
********************************************************************************************************************

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 โดยเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจแบบทวิภาคีของรัฐบาลไทยและพม่า ซึ่งในปี 2553 บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด มหาชน ได้รับสัมปทานจากการท่าเรือแห่งพม่าในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างไทยกับพม่า   แต่โครงการได้หยุดชะงักไปในปี 2555 เนื่องจากความล้มเหลวในการระดมทุนเพื่อเดินหน้าโครงการของบริษัท ประกอบกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของไทย แม้ว่ารัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะโหมผลักดันอย่างหนักก็ตาม และมีการผลักดันรอบใหม่จากรัฐบาลไทยดังเป็นข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยและพม่าได้เข้ามาควบคุมโครงการนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 และมีการมอบสิทธิสัมปทานให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle – SPV) ซึ่งรัฐบาลไทยและพม่าต่างเป็นมีหุ้นส่วนเท่ากัน (วงเงินตั้งต้น 12 ล้านบาท) จึงถือว่ารัฐบาลทั้งสองมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมทั้งผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ

จากการศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมข้อค้นพบสำคัญ และได้หยิบยกข้อเสนอแนะสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก รวมทั้งรัฐบาลไทยและพม่า และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของทั้งสองประเทศ รวมถึงภาคเอกชนจากไทย ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจพิจารณาเข้ามาลงทุนในโครงการนี้