ชุดความรู้ประชาธิปไตยและการเมืองไทย

Date: February 19, 2014 Category:
Source:

นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475  ประชาธิปไตยที่แท้ยังไม่เคยลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงถาวรในสังคมการเมืองไทย  ตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารไปแล้วถึง 18 ครั้ง มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก  นอกเหนือไปจากปัญหารูปธรรมดังกล่าวนี้แล้ว วัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทยก็เป็นปัจจัยที่ควรถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ทั้งปัญหาการไม่ยอมรับการตัดสินใจของเสียงข้างมาก การไม่เห็นความสำคัญและเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย รวมไปถึงการนิยมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาทางการเมือง  ชุดความรู้ “ประชาธิปไตยและการเมืองไทย” พยายามสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเมืองไทย เพื่อให้สังคมการเมืองไทยมีอาวุธทางปัญญาในการทำความเข้าใจ เห็นคุณค่า ละอวิชชา และร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เติบโตและงดงามยิ่งขึ้นไป

ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง: ทางเลือกการจัดการความขัดแย้งที่ไม่ไร้น้ำยา – จันจิรา สมบัติพูนศิริ

August 29, 2014

ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของทุกสังคมการเมือง ความต่างอยู่ที่ว่าแต่ละสังคมจะใช้วิธีการอะไรในการจัดการกับความขัดแย้งนั้น หลายสังคมเลือกใช้วิธีการรุนแรง เช่น ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งในยูเครน ความขัดแย้งในอียิปต์ หรือแม้แต่ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยเอง หลายครั้งเราก็เลือกที่จะออกจากปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ดี มีหลายสังคมที่เลือกใช้วิธีการไร้ความรุนแรง เช่น อินเดียในยุคคานธี อาฟริกาใต้ในยุคเนลสัน แมนเดลา หรือแม้แต่ความขัดแย้งในเซอร์เบีย ที่ในที่สุดการประท้วงโดยไม่ใช้ความรุนแรงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น หากเราดูอัตราการประสบความสำเร็จ จะพบว่าการใช้วิธีไร้ความรุนแรงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการใช้ความรุนแรงถึงเท่าตัว

จันจิรา สมบัติพูนศิริ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพาท่านผู้ชมไปสำรวจความหมายของสันติวิธี ไปดูว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีน้ำยาหรือไม่ในโลกปัจจุบัน และตอบคำถามว่าเราจะสร้างวัฒนธรรมการไม่ใช้ความรุนแรงขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร

ความหมาย คุณค่า และความสวยงามของประชาธิปไตย – ประจักษ์ ก้องกีรติ

June 23, 2014

คำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นคำปริศนาคำหนึ่ง นักคิด นักปรัชญา และนักปกครองจำนวนมากให้นิยามกับคำๆ นี้แตกต่างหลากหลายกันไป ทั้ง อับราฮัม ลินคอล์น, วินสตัน เชอร์ชิล รวมไปถึงนักคิดอย่าง จอห์น ล็อค, ฌอง ฌาค รุสโซ ฯลฯ เมื่อ “ประชาธิปไตย” เดินทางผ่านพัฒนาการทางความคิดและทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” จึงแปรเปลี่ยนตามบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมตามแต่ละยุคสมัยอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง มิหนำซ้ำ สารพัดกลุ่มการเมืองต่างพยายามช่วงชิงการนิยามคุณค่าและความหมายของ “ประชาธิปไตย” ในแบบของตน

เช่นนี้แล้ว ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” นั้นคืออะไรกันแน่? ประชาธิปไตยมีความสำคัญอย่างไร? ประชาธิปไตยเท่ากับเผด็จการเสียงข้างมากจริงหรือ? เราจะสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคงถาวรได้อย่างไร?

ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะตอบคำถามสำคัญเหล่านั้น ผ่านการบรรยายเรื่อง “ความหมาย คุณค่า และความสวยงามของประชาธิปไตย”