ชุดความรู้ปฏิรูปประเทศไทย

Date: February 20, 2014 Category:
Source:

ท่ามกลางปัญหาอันซับซ้อนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่โถมกระหน่ำเข้าสู่สังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งปัญหาจากปัจจัยภายในประเทศอันเกิดจากจากความขัดแย้งทางการเมืองและโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปราะบางจากสภาพความเหลื่อมล้ำที่สูงเด่นและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง และปัญหาจากปัจจัยภายนอกประเทศอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลกในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี วิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤตสิ่งแวดล้อม

ชุดความรู้ปฏิรูปประเทศไทยเป็นความพยายามหนึ่งในการผลิตภูมิปัญญาเพื่อการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเท่าทันและแสวงหาทางออกที่มีคุณภาพให้แก่สังคมไทย ผ่านการศึกษาเรียนรู้อันเป็นหัวใจของการสร้างปัญญาใหม่ และใช้ปัญญาใหม่ดังกล่าวเป็นเครื่องนำทางสำหรับการปฏิรูปประเทศไทยให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีความหมาย มีคุณค่า มีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรมทางสังคมภายใต้โลกยุคใหม่

การตลาดเพื่อสังคม: 6 ขั้นตอนสู่สังคมที่ดีกว่า – กฤตินี ณัฐวุฒิสิทธิ์

November 16, 2016

การปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมย่อมต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาชนผู้ที่เป็นตัวละครสำคัญในการปฏิรูป และถือเป็นจุดหมายปลายทางของกระบวนการปฏิรูปนั้นเอง เพื่อให้วาระของการปฏิรูปไปถึงและได้รับความร่วมมือจากผู้คนวงกว้าง ผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต้องหาวิธีการเพื่อสื่อสารและส่งต่อประเด็นของตนออกสู่สาธารณะให้ได้มากที่สุด

การตลาดเพื่อสังคม หรือ social marketing คือการนำองค์ความรู้และวิธีการทางการตลาดมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เพื่อให้แคมเปญหรือโครงการที่มีจุดมุ่มหมายทางสังคมสามารถเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เข้าถึงสาธารณชน และบรรลุผลในการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้เกิดขึ้นในโลกจริงได้

กฤตินี ณัฐวุฒิสิทธิ์ แห่งสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพาท่านผู้ชมไปรู้จักกับการตลาดเพื่อสังคม รวมถึงแนะนำกลยุทธ์ทางการตลาด 6 ขั้นตอนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ผลักดันโครงการทางสังคมให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้

สู้กับคอร์รัปชัน เรื่องเพ้อเจ้อที่ต้องเริ่มจริงจังเสียที – บรรยง พงษ์พานิช

June 23, 2014

คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่กับสังคมเศรษฐกิจไทยมาช้านาน อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะรุนแรงมากขึ้น การจัดอันดับความโปร่งใสโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา ได้ให้คะแนนความโปร่งใสของประเทศไทยเพียง 35 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ถือว่าอยู่ในลำดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นในประเทศไทยยังพบว่า นักธุรกิจกว่าร้อยละ 70 ยอมรับว่าตัวเองเคยจ่ายสินบน และเยาวชนกว่า 2 ใน 3 ก็ยอมรับได้หากมีการคอร์รัปชัน

ในการบรรยายเรื่อง “สู้กับคอร์รัปชัน เรื่องเพ้อเจ้อที่ต้องเริ่มจริงจังเสียที” บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผู้เขียนหนังสือ “หางกระดิกหมา: คู่มือต้านคอร์รัปชันที่ไปไกลกว่าการร้องหาคนดี” จะชวนเปิดโลกคอร์รัปชันในสังคมไทย ผ่านการถอดรื้อมายาคติว่าด้วยคอร์รัปชัน พร้อมทั้งอธิบายถึงวิถีและกลยุทธ์แห่งการคอร์รัปชัน โทษของคอร์รัปชัน และปิดท้ายด้วยวิธีการในการต่อสู้กับคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทย

การปฏิรูประบบการศึกษาไทย – สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

March 13, 2014

ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง ทั้งในมิติเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไร้ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรด้านการศึกษา และกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับโลกในยุคสมัยใหม่

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จะชวนเราเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาการศึกษาไทย โดยชี้ให้เห็นว่า แกนกลางของปัญหาอยู่ที่การขาดความรับผิดชอบ (accountability) ของระบบการศึกษา พร้อมนำเสนอแนวทางในการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ผ่านการบรรยายเรื่อง “การปฏิรูประบบการศึกษาไทย”

สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน – สฤณี อาชวานันทกุล

March 13, 2014

ในปัจจุบันโลกเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย อันเป็นผลพวงของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรม เช่นนี้แล้วจึงเกิดกระแสผลักดันและดึงดูดให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวจากการมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดของบริษัทตนเป็นสรณะ มาเป็น ‘ธุรกิจแห่งคุณค่า’ ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจที่ดีด้วยได้

สฤณี อาชวานันทกุล แห่งบริษัท ป่าสาละ จำกัด ชวนเราท่องโลกธุรกิจแห่งคุณค่า ‘สู่ธุรกิจที่ยั่งยืน’ บอกเล่าถึงสภาพปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ แนวคิดเรื่องความยั่งยืนในฐานะทางออกของปัญหา และบทบาทของภาคธุรกิจในการสร้างความยั่งยืนและความเป็นธรรมแก่สังคม ผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจทั่วโลก

การวางแผนพลังงานอย่างยั่งยืน – เดชรัต สุขกำเนิด

March 13, 2014

ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการใช้พลังงานหลายมิติ เช่น การพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ การใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การขาดแผนสนับสนุนพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน

การบรรยายเรื่อง ‘การปฏิรูปพลังงานไทย : การวางแผนพลังงานอย่างยั่งยืน’ ของ เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอสภาพปัญหาของระบบพลังงานไทย ทางเลือกในการจัดการปัญหา รวมถึงแนวทางในการปฏิรูประบบพลังงานไทย ผ่านกรณีศึกษาที่ทำได้จริงและเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย