ชุดความรู้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ

Date: November 19, 2014 Category:
Source:

การออกแบบอยู่คู่กับสังคมมนุษย์เสมอมา และไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ วัตถุแทบทุกชิ้นที่อยู่รายล้อมชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้ล้วนผ่านการออกแบบมาแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี การออกแบบไม่เพียงแต่ส่งผลต่อมิติความสวยงามและการใช้งานของสิ่งเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อโลกรอบตัวด้วย ชุดความรู้ “ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ” มุ่งให้ผู้ชมได้มองเห็นและเข้าใจบทบาทของการออกแบบและศิลปะที่อยู่รอบตัว มองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังงานออกแบบต่างๆ รวมถึงพยายามกระตุ้นให้ผู้ชมดึงความคิดสร้างสรรค์มาใช้ประยุกต์ในงานและชีวิตของตัวเอง

ความคิดสร้างสรรค์กับวิวัฒนาการตัวอักษร – อนุทิน วงศ์สรรคกร

December 22, 2016

นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการบันทึกด้วยตัวอักษรเป็นครั้งแรกในสมัยอารยธรรมสุเมเรียน เครื่องมือในการส่งต่อความทรงจำและความรู้ในรูปตัวอักษรก็พัฒนาเรื่อยมา เริ่มจากการใช้สิ่วกะเทาะลงไปบนหิน สู่การเขียนด้วยหมึกบนกระดาษ ไปยังการใช้เครื่องเรียงพิมพ์ซึ่งสามารถผลิตหนังสือได้จำนวนมาก จนในปัจจุบันทุกคนสามารถเขียนด้วยคอมพิวเตอร์และส่งต่อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

แต่ความสะดวกที่มาพร้อมกับเครื่องมือสมัยใหม่เหล่านี้ กลับทำให้มนุษย์สูญเสียเอกลักษณ์ในด้านการสื่อสารอย่างหนึ่งไป นั่นก็คือลายมือ การเกิดขึ้นของ Font Menu เป็นครั้งแรกในเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเปรียบได้กับการคืนลายมือให้กับมนุษย์ในยุคดิจิทัล

อนุทิน วงศ์สรรคกร แห่งบริษัท คัดสรร ดีมาก จำกัด จะพาท่านผู้ชมไปดูพัฒนาการของการสื่อสารด้วยตัวอักษร รวมถึงสำรวจว่า ในยุคที่ทุกคนสามารถเลือกฟอนต์ได้ง่ายๆ ด้วยการคลิก ความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกใช้ฟอนต์มีความสำคัญมากเพียงใด

สถาปัตยกรรมกับสังคม: ความหมายที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกปูน – รชพร ชูช่วย

November 21, 2014

หากเราไม่นับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโลกเสมือน ทุกความสัมพันธ์ของมนุษย์ล้วนต้องการกายภาพบางอย่างมารองรับ และกายภาพที่ว่าก็คือ “สถาปัตยกรรม” ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า สถาปัตยกรรมไม่เคยแยกขาดจากความสัมพันธ์ของมนุษย์เลย ในระดับย่อยที่สุด บ้านและการออกแบบบ้านส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในบ้าน และในพื้นที่สาธารณะ สถาปัตยกรรมก็ส่งอิทธิพลต่ออารมณ์และการตัดสินใจของผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ต่างกัน

สถาปัตยกรรมไม่เพียงสามารถส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ หากแต่ตัวสถาปัตยกรรมเองยังสามารถเป็นเครื่องสะท้อนความเป็นไปของสังคม แสดงตัวตนของอุดมการณ์ต่างๆ ออกมาเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการซ่อมแซมความสัมพันธ์ในสังคมที่พังทลายลงไปได้ด้วย

รชพร ชูช่วย แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพาเราไปรู้จักกับแง่มุมที่หลากหลายและความหมายที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกปูนของสถาปัตยกรรม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ชมตอบคำถามได้เองว่า คำกล่าวของ วินสตัน เชอร์ชิล ที่ว่า “เราสร้างอาคาร แต่หลังจากนั้น อาคารคือผู้สร้างเรา” เป็นคำกล่าวที่เกินจริงไปหรือไม่