ชุดความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Date: July 29, 2014 Category:
Source:

วิทยาศาสตร์เป็นแกนกลางของความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์เสมอมา มนุษย์หลุดพ้นจากยุคแห่งอวิชชามาได้ก็ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสามารถเจริญก้าวหน้าในทางวัตถุได้เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่แม้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะอยู่รอบตัวและผนึกรวมอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษย์ กระนั้น คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ก็ได้เคยกล่าวไว้ว่า เราอาศัยอยู่ในสังคมที่พึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก แต่ผู้คนในสังคมกลับแทบไม่รู้จักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลย ชุดความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพยายามจะตอบโจทย์ความท้าทายนี้ ด้วยการเปิดโลกองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลก และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างวิธีคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่พึ่งพิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทันและเข้าใจ

หลุมดำ: ความลับ ณ ใจกลางจักรวาล – อาจวรงค์ จันทมาศ

December 17, 2016

มีวัตถุในจักรวาลชิ้นหนึ่งที่ยังคงสร้างความฉงนให้กับนักวิทยาศาสตร์ เป็นจุดมืดประหลาดบนท้องฟ้าที่ดูดกลืนแสงดาว มีมวลสารมหาศาลจนปฏิเสธกฎทางฟิสิกส์ทั้งปวง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยต่อเติมจินตนาการให้กับศิลปิน นักเขียน และผู้กำกับภาพยนตร์มากหน้าหลายตา วัตถุชิ้นนั้นคือ หลุมดำ

นับแต่ศตวรรษที่ 18 ที่จอห์น มิเชล ได้เริ่มจินตนาการถึงวัตถุประหลาดที่มีแรงดึงดูดมหาศาลที่แม้แต่แสงก็ไม่สามารถหลุดออกมาได้ วงการวิทยาศาสตร์ก็ค่อยๆ สะสมองค์ความรู้และสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับหลุมดำขึ้นมา จนในปัจจุบันแม้ว่าหลุมดำจะได้รับการตรวจพบและพิสูจน์แล้วว่ามีอยู่จริง แต่่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ใจกลางหลุมดำที่เรียกว่าภาวะ singularityกลับยังคงเป็นปริศนาที่ไม่มีทฤษฎีทางฟิสิกส์ใดอธิบายได้

อาจวรงค์ จันทมาศ นักเขียนและนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ จะพาทุกท่านเดินทางไปรู้จักกับวัตถุที่น่าพิศวงที่สุดบนท้องฟ้าชิ้นนี้ เพื่อให้พวกเราทุกคนในฐานะที่เป็น “ลูกหลานของละอองดวงดาว”เข้าใจจักรวาลแห่งนี้ดียิ่งขึ้น

วิทยาศาสตร์โง่ๆ: ไขปัญหาวงการวิทยาศาสตร์ไทย – นำชัย ชีววิวรรธน์

September 30, 2014

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ 2511 หากเรายึดถือวันนี้เป็นหมุดหมาย นั่นเท่ากับว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นเวลากว่า150 ปีแล้ว แต่จนปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้อย่างมั่นคง

วงการวิทยาศาสตร์ไทยมีปัญหาในทุกระดับ ภาครัฐของไทยลงทุนในงบประมาณการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ ร้อยละ 0.25 ของจีดีพี ภาคเอกชนไทยลงทุนในงบประมาณด้านการวิจัยน้อยมาก ส่วนคนไทยทั่วไปก็ไม่สนใจรายการวิทยาศาสตร์และเยาวชนไทยก็ไม่นิยมเลือกเรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยที่มักทำกันอย่างผิดๆ

นำชัย ชีววิวรรธน์ แห่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะพาท่านผู้ชมไปสำรวจปัญหา ค้นหาสาเหตุ และมองหาทางออกให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทย รวมทั้งตอบคำถามว่าเราจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

ชีวลอกเลียน : นวัตกรรมเลียนแบบธรรมชาติ – สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

July 29, 2014

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 สถานการณ์การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกอยู่ในระดับที่ไม่สามารถเยียวยาให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมได้แล้ว ในขณะที่ปัญหาโลกร้อนก็กำลังจะเข้าสู่ภาวะที่เกินขอบเขตที่ธรรมชาติจะรับไหว

มนุษย์ได้คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ มากมายเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ เทคโนโลยีสาขาหนึ่งที่อาจเป็นคำตอบให้กับปัญหาที่เราเผชิญอยู่คือ ชีวลอกเลียน (biomimicry) หรือการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ โดยเลียนแบบจากสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติรอบตัว

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ แห่งมูลนิธิโลกสีเขียว จะพาเราไปรู้จักกับชีวลอก ไปสำรวจว่ามนุษย์จะสามารถนำเอานวัตกรรมที่อยู่ในสิ่งมีชีวิตกว่า 9 ล้านชนิดบนโลกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และชีวลอกเลียนจะสามารถเป็นทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้หรือไม่